หากกำลังจะขึ้นทางด่วนแล้วพบว่ามีเงินในกระเป๋าไม่พอจ่าย (แม้จะเก็บเศษเหรียญตามซอกหลืบทั่วทั้งรถแล้วก็ตามเถอะ) อย่างมากก็คงแค่ค่อยๆ ถอยรถออกมาจากด่านเก็บเงินเท่านั้น แต่หากเป็นด่านเก็บเงินที่อยู่บนทางด่วนขึ้นมาล่ะ จะถอยลงทางด่วนก็คงไม่ได้แล้ว หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมาจริงๆ จะต้องจ่ายค่าปรับไหมนะ?
ไม่ต้องกังวลจนเกินกว่าเหตุไปก่อนล่ะ เพราะหากคุณลืมนำเงินติดกระเป๋ามาจริงๆ พนักงานประจำด่านจะทำหน้าที่บันทึกรายละเอียดต่างๆ เช่น ยี่ห้อรถ, ทะเบียนรถ และวันเวลาที่ผ่านด่านเอาไว้ โดยคุณสามารถนำเงินมาชำระที่ด่านเดิมได้ภายใน 7 วัน นับจากวันที่ไม่ได้ชำระค่าผ่านทาง โดยจะไม่มีการเรียกเก็บค่าปรับใดๆ นอกเหนือไปจากค่าผ่านด่านที่ค้างไว้
แต่หากไม่ได้กลับไปชำระค่าผ่านทางภายใน 7 วัน จะมีจดหมายแจ้งเตือนให้ชำระไปยังที่บ้าน จะต้องรีบนำจดหมายดังกล่าวไปชำระค่าผ่านทางที่ด่านใดก็ได้ภายใน 30 วัน หรือตามที่ระบุไว้ในจดหมาย
แล้วถ้าหากไม่ชำระค่าผ่านทาง หรือมีเจตนาไม่ชำระค่าผ่านทางล่ะ? อันนี้แบ่งได้เป็น 3 กรณีขึ้นอยู่กับทางด่วนที่ค้างชำระ ดังนี้
1.หากค้างชำระทางด่วนในความดูแลของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (EXAT) จะมีโทษปรับ 2,000 บาท ตาม พ.ร.บ. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 63 ฐานหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าผ่านทาง
2.หากค้างชำระทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ภายใต้การดูแลของกรมทางหลวง จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10 เท่าของค่าผ่านทาง ตาม พ.ร.บ. กำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงและสะพาน 2497 มาตรา 7
3.หากค้างชำระทางด่วนสัมปทาน ดอนเมืองโทลล์เวย์ จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10 เท่า ของค่าผ่านทาง ตาม พ.ร.บ. ทางหลวงสัมปทาน 2542 มาตรา 33
รู้แบบนี้แล้วก็อย่าเผลอขึ้นทางด่วนโดยไม่มีเงินจ่ายล่ะ จะได้ไม่ต้องวุ่นวายขนาดนี้